ด้วยสภาพแวดล้อมของบ้านตะโล๊ะ ม.5 ต.ลิดล อ.เมืองยะลา ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ล้อมรอบด้วยเทือกเขาและป่าไม้ ที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงชาวบ้านมีการปลูกไม้ผลหลายชนิด เหมาะที่จะเป็นแหล่งที่อยู่ของผึ้งป่าชันโรงทำให้ชาวบ้าน และเยาวชน ของที่นี่ ได้หันมารวมกลุ่มเลี้ยงชันโรง หรือที่เรียกว่า “ผึ้งจิ๋ว” เพื่อการอนุรักษ์ ตลอดจน ยังเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับผู้เลี้ยง ได้มีรายได้เสริมตลอดทั้งปี จากการขายน้ำผึ้งชันโรง(นีแซกลูโละ) ที่มีราคาสูง และ มีสรรพคุณมากมายที่นำไปใช้ในทางการแพทย์ ทั้งบรรเทา และรักษาอาการต่างๆ อาทิ แก้ไอ แก้หอบ รวมถึงยังใช้เป็นส่วนผสมในการทำเครื่องสำอางอีกด้วย
สำหรับการเลี้ยงชันโรงลงทุนไม่มาก ทำกล่องลัง แล้วนำไปวางตามสวนผลไม้ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของผึ้งชันโรง ชันโรงก็จะไปหาอาหารเอง นอกจากนี้ ชันโรง ก็ยังช่วยสร้างระบบนิเวศ ผสมเกสร เพิ่มผลผลิตให้กับสวนผลไม้ด้วย
นายซอลาฮุดดิน บือราเฮง บอกว่า ทางกลุ่ม ต.ลิดล ได้เริ่มต้นเลี้ยงชันโรง มา 2-3 ปีแล้ว ปัจจุบัน มีสมาชิก 10 คน ไม่เฉพาะแต่ เกษตรกรทั่วไป ครู อาจารย์ ค้าขาย ก็เลี้ยงได้ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์หารายได้เสริม จากเริ่มแรกเราสังเกตว่าในหมู่บ้านเรา จะมีชันโรง อยู่ เห็นว่าน่าจะทำประโยชน์ได้ ก็เกิดการเลี้ยงต่อยอดขึ้นมา โดยสมาชิก ก็จะกระจายเลี้ยงตามบ้านของตนเอง มีการประชุมวางแผนการเลี้ยงต่างๆในเรื่องของการดูดน้ำหวาน เก็บตอนไหน ดูดตอนไหน ปัจจุบันสมาชิกทั้งหมดจะมีรังชันโรง รวมประมาณ 60-70 รัง
สำหรับตนเอง ลงทุนเริ่มแรก ซื้อรังไม้ ประมาณ 5 พันบาท จากทุนเริ่มแรก ก็หมุนเวียนเลี้ยงไปเรื่อยๆ จากประสบการณ์ 2 ปี ที่เลี้ยงมา ได้ข้อสรุปหมู่บ้านเราสายพันธุ์อื่นเลี้ยงไม่ได้ ทำน้ำหวานไม่ดี ตอนนี้เลี้ยงอยู่ 2 สายพันธุ์ อิตามากับบราฮาลี และสายพันธุ์เล็ก ส่วนสายพันธุ์อื่น ปากแตร ก็เลี้ยงไว้ศึกษา ผู้สนใจก็สามารถมาศึกษาดูงานได้ยินดีที่จะแนะนำสนับสนุน คนที่เลี้ยงจริงๆ
ส่วนรายได้นั้น ก็จะอยู่ที่รังของแต่ละคนว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน อยู่ที่ช่วงเวลาการดูดน้ำหวานของตัวรังผึ้ง รายได้กลุ่มจะอยู่ที่ 2 หมื่นบาทต่อปี ตามจำนวนรังที่มี คาดว่าต่อไปก็จะขยายเพิ่ม ตอนนี้กระแสบูมมาก น่าจะเลี้ยงกันมากขึ้น เมื่อก่อนไม่มีใครรู้จักตอนนี้รู้จักกันมากขึ้น สำหรับช่วงที่ชันโรง ให้น้ำผึ้งดีที่สุด จะเป็นหน้าร้อน เดือน ม.ค-พ.ค ให้น้ำหวานดี ความชื้นน้อย ตอนนี้ก็ได้ทางเกษตรอำเภอเมืองยะลา เข้ามาสนับสนุนในการจดทะเบียนตั้งกลุ่มวิสาหกิจเพื่อให้ทางกลุ่มได้ดำเนินการเลี้ยงผึ้งชันโรงต่อไป
ส่วนการจำหน่ายนั้น ตอนนี้จะทำขายเฉพาะน้ำผึ้งสด อนาคตก็ได้ วางแผนจะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สบู่ด้วย สำหรับผู้ที่สนใจสั่งซื้อก็สามารถเข้าไปได้ที่เฟซบุ๊ก ชันโรงยอดเขาโต๊ะสาเฮะห์
ทางด้านนางสาววันวิสาข์ จั่นเพชร เกษตรอำเภอเมืองยะลา บอกว่า ทางสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองยะลา เกษตรตำบล นายมูฮัมมัดรุสดี หะยีลาเปะ ก็ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน ที่เห็น ก็จะมีพันธุ์อิตามา ปากแตร ทางสำนักงานก็เข้ามาติดตามตลอด เพื่อให้ทางกลุ่ม เปิดเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เป็นต้นแบบการเลี้ยงชันโรง ด้วยสภาพแวดล้อมของยะลา เหมาะสม เชื่อว่า ตัวชันโรงจะเป็นแมลงเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าสนใจ สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตร ต่อไปในอนาคต
ซึ่งการเลี้ยงดูชันโรง เราก็ไม่ต้องไปหาอาหารให้ ชันโรงจะหาอาหารเอง เพียงแต่นำกล่องมาวางเป็นที่อยู่ให้ ชันโรงก็จะผลิตน้ำหวานให้เรา การลงทุนไม่มาก ขยายพันธุ์ได้ จะได้จากรายได้ ของน้ำผึ้งชันโรงเอง ด้วยตัวเกสร ชันข้างใน และยังขยายพันธุ์ต่อได้ด้วย ตอนนี้ พื้นที่อื่นๆ ก็เริ่มมีแล้ว อยากให้ตรงจุดนี้เป็นต้นแบบ ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงชันโรง ซึ่งจะง่ายกับการตัดสินใจของผู้เลี้ยง ทาง ต.สะเตงนอก ต. บุดี เริ่มเข้ามาเลี้ยงเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มนี้ ก็ได้ นำไปทำผลิตภัณฑ์ เป็นน้ำผึ้ง เป็นเครื่องดื่มผสมน้ำผึ้งมะนาว ต่อไป ก็จะแยกสายพันธุ์ เป็นช่วงเดือน มีแปลงทดลอง ให้เก็บเกสรจากดอกอะไร เพื่อจะได้รู้ว่าผู้บริโภคชอบแบบไหนมากกว่ากัน จะมีส่วนที่นำไปทำสบู่ เป็นเครื่องสำอาง ครีม ด้วย
—————————