Wednesday, 5 February 2025

สถานการณ์น้ำท่วมยะลาคลี่คลาย หลังฝนซา ชาวบ้านเริ่มทำความสะอาดบ้านเรือน

20 Dec 2021
342

 

ฝนที่ตกหนักติดต่อลงมาในพื้นที่ จ.ยะลา อย่างต่อเนื่อง ช่วงวันที่ 16-18 ธ.ค. 64 ซึ่งอำเภอยะหามีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก จำนวน 4 ตำบล 20 หมู่บ้าน 1 ชุมชน คือ ตำบลบาโระ ตำบลละแอ ตำบลยะหา ตำบลปะแต ชุมชนบือแจเกาะ

ฝนที่ตกในปริมาณมากได้หยุดตกและมีเพียงเล็กน้อย ตั้งแต่เมื่อดึกที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์น้ำที่ไหลเข้าท่วมขังบ้านเรือน สวนผลไม้ สวนยางพารา ถนนหนทาง บางพื้นที่น้ำลดลงจนหมด ส่วนบางพื้นที่ระดับน้ำได้ลดปริมาณลงเรื่อย ๆ ซึ่งชาวบ้านละแอ บอกว่า ไม่มีฝนตกหนักตั้งแต่ตี 2 ของเมื่อคืนนี้แล้ว บ้านที่ถูกน้ำท่วมขังน้ำแห้งจนหมดแล้ววันนี้ ก็ได้เริ่มล้างทำความสะอาดบ้าน รอรอบใหม่ ที่จะเข้ามาอีกครั้ง ตามปกติที่นี่จะมีน้ำท่วม 3 ครั้ง ครั้งนี้ที่ท่วมก็เป็นครั้งที่ 2 แล้ว

ขณะที่ ทางด้านสำนักงานสาธารณสุข จ.ยะลา ห่วงใยประชาชนช่วงหน้าฝน แนะให้เฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม โดยเฉพาะโรคท้องร่วง ตาแดง โรคผิวหนัง โรคฉี่หนูและน้ำกัดเท้า โดย นพ.วิเศษ สิรินทโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา ได้เผยว่า ขณะนี้จังหวัดยะลามีฝนตกหนักต่อเนื่อง อาจมีแหล่งน้ำท่วมขัง และบางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม แหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคมีสิ่งปนเปื้อนมากับกระแสน้ำ ซึ่งจะนำเชื้อโรคของเสียต่างๆ รวมทั้งสารเคมีที่อาจปะปนมา อีกทั้งสภาพน้ำที่ท่วมขังส่งผลให้สัตว์และแมลงออกจากรังมาอาศัยอยู่บริเวณต่างๆ รวมทั้งพาหะนำโรคต่าง ๆ สามารถเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับโรคที่พบบ่อยช่วงน้ำท่วม เช่น ไข้หวัด ตาแดง โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคฉี่หนู น้ำกัดเท้า จึงขอแนะนำให้ประชาชน สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่เปียกชื้น รักษาร่างกายให้อบอุ่น ล้างมือบ่อย ๆ ควร สวมรองเท้าบูท ล้างทำความสะอาดมือ เท้า ด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งทุกครั้งหลังลุยน้ำ ย่ำโคลน แต่หากมีอาการปวดศีรษะ มิไร้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา คลื่นไส้ ท้องเสีย ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคฉี่หนู ให้รีบพบแพทย์ทันที รวมทั้งนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด ป้องกันยุงกัดเป็นไข้เลือดออกในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม หรือน้ำท่วมช้ำซาก ขอให้ประชาชนเก็บสิ่งของและเครื่องใช้ต่าง ๆ ขึ้นที่สูง ภายในบ้านให้เป็นระเบียบ ป้องกันสัตว์มีพิษที่อาจหนีน้ำมาอยู่ในบ้านกัด และใส่รองเท้าบูทเมื่อต้องลุยน้ำ ป้องกันอุบัติเหตุจากของมีคม ระมัดระวังเรื่องกระแสไฟฟ้ภายในบ้าน ขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าไว้ที่สูง ถอดปลั๊ก ควรตัดไฟขั้นล่างหากเป็นบ้านชั้นเดียวงดใช้ไฟฟ้า

นอกจากนี้ ในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ใหญ่ ต้องระมัดระวังเรื่องการเล่นน้ำหรือออกหาปลา เพราะแต่ละปีมีรายงานการจมน้ำเสียชีวิตจากการออกหาปลาช่วงน้ำท่วม จึงขอให้มีเพื่อนไปด้วยและเตรียมอุปกรณ์ช่วยพยุงตัว เช่นห่วงยาง แกลลอนเปล่า และดูแลเด็ก ๆ ไม่ให้เล่นน้ำท่วม หากเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุฉุกเฉิน โทร.1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา ยังได้กำชับสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เตรียมการป้องกันน้ำท่วมสถานบริการ รวมทั้งให้แต่ละอำเภอเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือด้านสาธารณสุข สำรวจ เวชภัณฑ์ยา จำนวนผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ในพื้นที่ ประชาสัมพันธ์ประชาชนในการป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำ

————————-