แหล่งท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ จชต. เศรษฐกิจฐานรากไปสู่ครัวเรือนให้ประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้วิถีพหุวัฒนธรรม ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ 02 Feb 2021 602 share tweet share พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า รัฐบาลต้องการให้พี่น้องประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นโดยมีการพัฒนาเศรษฐกิจ 2ระดับ คือ ระดับฐานราก และระดับอนุภูมิภาค พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการพัฒนาระดับเศรษฐกิจฐานราก ภาครัฐกำลังขับเคลื่อนร่วมกับทุกภาคส่วน มุ่งเน้นให้ครัวเรือน ชุมชน ทำการเกษตรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การทำประมงพื้นบ้านหรือการทำประมงชายฝั่ง เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถพิสูจน์ได้ชัดว่า ในสภาวะของโรคโควิด 19 ระบาดที่ผ่านมา กลุ่มคนเหล่านี้ก็สามารถพึ่งพาตนเองและดำรงอยู่ได้ อีกทั้งภาครัฐยังได้ส่งเสริมอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น การส่งเสริมการปลูกกาแฟ การปลูกไผ่พลังงาน ซึ่งเป็นไม้โตเร็ว และมีโรงงานที่สามารถรองรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 15 โรงงาน เป็นต้น และในห้วงที่ผ่านมา ศอ.บต.ได้มีการขับเคลื่อนโครงการ ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ และไม้เศรษฐกิจนอกจากประโยชน์ในชื่อแล้วยังให้ประโยชน์อย่างที่ 4 คือ สามารถอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธาร ตามแนวทางยุทธศาสตร์พระราชทานเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้จัดหาพันธุ์ไม้ ให้กับพี่น้องประชาชนนำมาปลูกเพื่อบริโภคและจำหน่ายได้อีกด้วย ขณะที่แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญคือแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่จะฉุดเศรษฐกิจฐานรากให้ดีขึ้น ซึ่ง ศอ.บต.ได้สนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เช่น แหล่งท่องเที่ยวบ่อน้ำร้อนนากอ ตำบลอัยเยอร์เวง ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนนำสินค้าพื้นบ้านออกมาจำหน่าย เช่น ผักหรืออาหารพื้นบ้าน ไม้กวาด ตลอดจนยาสมุนไพรของชาวโอรังอัสรี เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีชุมชนบ้านฮากกา เพื่อเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมจีนโบราณ กว่า 150 ปี อุโมงค์ปิยมิตร อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ฯลฯ โดยรัฐบาลได้กำหนดให้อำเภอเบตง เป็นเมืองต้นแบบการท่องเที่ยว ที่เป็นหนึ่งในโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มีสกายวอร์ค จุดชมวิวทะเลหมอกอัยเยอร์เวง และสนามบินเบตง ที่จะเปิดให้บริการเร็วๆนี้ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปคู่ขนานกับแหล่งท่องเที่ยวชุมชน แต่ในขณะเดียวกัน ศอ.บต. ได้เน้นการท่องเที่ยวชุมชนให้ครอบคลุม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ประชาชนชนมีรายได้ ซึ่งผมเชื่อว่าแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่ภาครัฐได้มีการขับเคลื่อนนั้น จะเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่กำลังจะฉุดเศรษฐกิจฐานรากให้สูงขึ้นได้ต่อไป เลขาธิการ ศอ.บต. เผยต่ออีกว่า กว่า 10 ปีที่ผ่านมาจังหวัดชายแดนภาคใต้แทบจะไม่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุน ในพื้นที่ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบฯ และในห้วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี นำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเผยว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างหัวรถจักรขึ้นมาในจุดที่สำคัญ คือโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่มีสถาวะแวดล้อม มีมาตรการพิเศษที่จะสามารถส่งเสริมการลงทุนให้เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ ซึ่งการพัฒนาต่างๆ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการบูรณาการอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามเลขาธิการ ศอ.บต. ยังได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ศอ.บต.ได้ตั้งเป้าหมายที่เป็นการพัฒนาในผลลัพธ์สุดท้ายคือ ประชาชนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้วิถีพหุวัฒนธรรม ซึ่งได้กำหนดวิสัยทัศน์ พื้นที่จะต้องมีความมั่นคงปลอดภัย ประชาชนจะต้องไม่แตกต่างเหลื่อมล้ำ และมีความเป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคมเพื่อให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน