Wednesday, 5 February 2025

ความคืบหน้า จะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต


คืบหน้าไปมากแล้วสำหรับโครงการ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” หรือเมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา โครงการที่ต่อเนื่องมาจากเมืองต้นแบบ 3 แห่งในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งจะมีทั้งท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 และพื้นที่อุตสาหกรรม

เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมฯ แห่งนี้กินพื้นที่ 3 ตำบลของ อ.จะนะ จ.สงขลา นั่นคือ นาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม บนพื้นที่ 17,000 ไร่ ซึ่งเป็นที่ของเอกชนที่ซื้อไว้นานแล้ว ดังนั้น โครงการนี้จึงไม่มีผลกระทบในการเวนคืน หรือโยกย้ายประชาชน รวมทั้งการย้ายศาสนสถาน วัดวาอาราม มัสยิด และกุโบร์ หรือสุสานของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามแต่อย่างใด

แน่นอนนี่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยมีในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ เซาเทิร์นซีบอร์ด ท่าเรือน้ำลึกที่ อ.ละงู จ.สตูล ที่โดนตีตกและเจอแรงต่อต้านจากเอ็นจีโอ จนต้องหยุดชะงัก ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งที่เศรษฐกิจ การลงทุน การค้าชายแดน การส่งออกของภาคใต้จึงไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร

แม้ว่าภาคใต้และภาคใต้ตอนล่างจะมีวัตถุดิบมากมาย เหมาะแก่การตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเพื่อการส่งออก แต่สุดท้ายหลังจากที่นักลงทุนคิดสะระตะหมดแล้วก็ไม่กล้าลงทุนในภาคใต้ตอนล่าง เพราะพื้นที่ของภาคใต้ไม่มีท่าเรือเพื่อการส่งออกที่เป็นท่าเรือน้ำลึกจริงๆ การไม่มีประตูส่งออกคือการทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แข่งขันไม่ได้ และอาจจะขาดทุนในที่สุด

“เมืองต้นแบบที่ 4” ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการอุตสาหกรรมทันสมัยทั้งหมด มีทั้งอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมขนาดเบา ที่ใช้นวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัย มีโรงงานไฟฟ้าที่ไม่ก่อมลพิษ และที่สำคัญมติ ครม.ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า ไม่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

โครงการนี้มีการขับเคลื่อนโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ศอ.บต.” ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนตาม พ.ร.บ.ศอ.บต. มาตรา 10 ตามมติ ครม. และผ่านการขับเคลื่อนมาเป็นปีที่ 2 วันนี้จึงมีคำถามจากคนในพื้นที่ นักลงทุน และกลุ่มคนทั่วไปถึงความก้าวหน้าของโครงการว่า
มีโอกาสของความสำเร็จหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา โครงการขนาดใหญ่ของภาคใต้ไม่เคยขับเคลื่อนได้สำเร็จ


ที่สำคัญ โครงการเมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อ.จะนะ ได้รับความสนใจจากผู้สำเร็จการศึกษาที่ยังไม่มีงานทำ และนักเรียนนักศึกษาที่ใกล้จะจบการศึกษา เพราะโครงการนี้ถ้าเกิดขึ้นได้จะมีตำแหน่งงานถึง 100,000 ตำแหน่งไว้รองรับผู้ที่ว่างงานและผู้ที่จะจบการศึกษา ดังนั้น จึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

สำหรับความคืบหน้าเท่าที่ทราบ หลังจากที่ ศอ.บต.ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ไปแล้วเมื่อกลางปี 2563 และได้ส่งรายละเอียดของความคิดเห็นของคนในพื้นที่ให้แก่รัฐบาลใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ซึ่งต่อมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. ก็ได้มีคำสั่งให้หน่วยงานทุกส่วนที่เกี่ยวข้องผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยมี ศอ.บต. เป็นเจ้าภาพ ก็ทำให้การขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ในส่วนของการเปลี่ยนผังเมือง คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดสงขลาได้ลงมติเปลี่ยนผังเมืองในพื้นที่ 3 ตำบลที่จะสร้างเมืองต้นแบบแห่งที่ 4 ให้เป็นผังเมือง “สีม่วง” เป็นเขตอุตสาหกรรมไปแล้ว และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตามกฎระเบียบของกรมโยธาธิการในการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย

และเท่าที่ทราบ ผังเมืองในพื้นที่ 3 ตำบลนี้ไม่ได้เป็นสีม่วงทั้งหมด แต่จะมีการกันเป็นสีเขียวในโซนที่เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากชีวภาพ ชีวมวล และก๊าซ รวมทั้งในโซนที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเบา ก็จะเป็นโซนที่อยู่ในผังเมืองสีเขียว

มีการตั้งงบ 10 ล้านบาทจาก ศอ.บต. เพื่อให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาไปศึกษาในเรื่องของเส้นทางขนส่งคมนาคม หรือ “โลจิสติกส์” เพราะโครงการขนาดใหญ่อย่างเมืองต้นแบบที่ 4 เมื่อเกิดขึ้นผลกระทบในเรื่องการขนส่งคมนาคมต้องมีอย่างแน่นอน จึงได้มีการศึกษาผลกระทบเพื่อที่จะได้ทำการป้องกันและสร้างโครงข่ายคมนาคมให้มีความสอดคล้องกับการพัฒนาที่เกิดขึ้น

มีการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของแหล่งน้ำศึกษาการใช้น้ำของโครงการเมืองต้นแบบเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับคนในพื้นที่ เพื่อที่จะมีข้อมูลใช้ในการวางแผนรองรับการสร้างแหล่งน้ำให้เพียงพอกับอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น และคนในพื้นที่จะต้องไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องของน้ำกิน น้ำใช้ นั่นเอง

การขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาคือ เรื่องแรกๆ ที่ ศอ.บต.และเอกชนผู้ลงทุนได้ประสานงานกับสถาบันการศึกษาที่มีอยู่ในพื้นที่ของ จ.สงขลา เพื่อที่จะมีการวางแผนร่วมกันในการผลิตนักศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับตำแหน่งงานของโครงการเมืองต้นแบบที่ 4

เช่นเดียวกับเรื่องของสุขภาวะอนามัย หรือเรื่องการเจ็บป่วย เมื่อเมืองใหญ่ขึ้น คนมากขึ้น จำเป็นที่จะต้องมีการตั้งโรงพยาบาลศูนย์ในพื้นที่เพื่อรองรับคนที่เข้ามาอยู่ใหม่ในพื้นที่และคนในพื้นที่ โดยเฉพาะใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา นั่นคือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ซึ่งเป็น 4 อำเภอที่ยังอยู่ในโซนของความมั่นคง หรือพื้นที่ซึ่งยังมีการก่อการร้าย แผนการในเรื่องสุขอนามัยของประชาชนที่มีการประชุมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาธารณสุขจังหวัดสงขลาเป็นแม่งาน คือการก่อสร้างโรงพยาบาลศูนย์ที่ อ.จะนะ ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวมีความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว

แม้แต่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่จำนวน 20 กว่าแห่ง ก็ได้ประชุมร่วมเพื่อที่จะให้โรงเรียนและนักเรียนได้รับประโยชน์จากการเกิดขึ้นของเมืองต้นแบบที่ 4 เช่น การสร้างห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในเบื้องต้น และนักเรียนที่จบออกไปต้องมีงานทำ เป็นต้น

ส่วนความคืบหน้าในด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นเรื่องสำคัญ ที่เอ็นจีโอนำมาเป็นเงื่อนไขต่อต้านโครงการนี้ วันนี้แผนการจัดการกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างการดำเนินการในเรื่องของงบประมาณ เพื่อให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ซึ่งมีคณะต่างๆ ที่เชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการตามกระบวนการของสิ่งแวดล้อม

สุดท้าย คือการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ซึ่ง ศอ.บต.ยึดหลักการของการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ โดยผ่านสภาสันติสุขตำบล ซึ่งมีตัวแทนของคนในพื้นที่เป็นกรรมการ เพื่อเสนอความคิดเห็น แก้ปัญหาความไม่เข้าใจ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง สร้างความเข้าใจกับกลุ่มที่เห็นต่างกับโครงการ และจัดตั้งกลุ่มผู้นำในพื้นที่ เช่น
กลุ่มสตรี เยาวชน สภาเด็ก และอื่นๆ ในพื้นที่ 3 ตำบล เพื่อให้เขาคิดเอง ทำเอง โดย ศอ.บต.จะดำเนินการสนับสนุนงบประมาณ


ต่อไปจะมีการจัดตั้งสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดสงขลา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีคนในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการ และจะมี “ธรรมนูญชุมชน” เพื่อรองรับโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 เพื่อให้
ประชาชนอุ่นใจและมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ที่ตรวจสอบในทุกเรื่องได้

ในอีกส่วนที่เป็นความสำคัญที่บ่งบอกถึงความก้าวหน้าของโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 คือ ภาครัฐอยู่ระหว่างการแต่งตั้งบอร์ดที่ปรึกษาของโครงการ โดยมี ศอ.บต. และตัวแทนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นเลขานุการ

ทั้งหมดคือความก้าวหน้าของโครงการ
“เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” หรือเมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งในส่วนของผู้ที่เห็นด้วยที่จะให้มีโครงการดังกล่าวเพื่อให้ภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้มีโอกาสเติบโตและพัฒนาในด้านอุตสาหกรรม คงจะมีความมั่นใจขึ้นว่า “เมืองต้นแบบที่ 4” จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน!