วันที่ 19 ก.ย.65 ที่ลานวัฒนธรรมสัมพันธ์เทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ชาวอำเภอเบตง, นักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวมาเลเซีย ร่วมสมัครแข่งขันกินไก่เบตง ทั้งประเภทชาย และประเภทหญิง ซึ่งเป็นกิจกรรมไฮไลท์ในการสร้างสีสันของงานเทศกาลไก่เบตง ประจำปีนี้ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชน นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวมาเลเซีย เข้ามาชมและเชียร์การแข่งขันกินไก่เบตงเป็นจำนวนมาก ส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจผู้เข้าแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน
โดยกติกาการแข่งขัน ในประเภทชายและประเภทหญิง จะมีผู้เข้าร่วมแข่งขันประเภทละ 10 คน ที่มีทั้งพี่น้องชาวเบตง นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวมาเลเซีย เข้าร่วมแข่งขัน โดยจะแข่งกินไก่เบตงที่ผ่านการต้มสุกมาแล้ว คนละ 1 ตัว น้ำหนักไก่ตัวละ 1 กิโลครึ่ง โดยจะมีน้ำดื่ม 1 ขวดที่จัดไว้บนโต๊ะไว้ดื่ม ซึ่งผู้เข้าแข่งขันจะต้องกินไก่เบตงให้เร็วที่สุด ให้มีปริมาณเหลือน้อยที่สุดในเวลา 10 นาที เท่านั้น เมื่อหมดเวลา กรรมการจะนำส่วนที่เหลือของไก่มาชั่งน้ำหนัก ไก่ของผู้ร่วมแข่งขันมีน้ำหนักเหลือน้อยที่สุดเป็นผู้ชนะ รับเงินรางวัลจำนวน 3,000 บาท ไปครอง
หลังสัญญาณเริ่มการแข่งขัน ทุกคนต่างฉีกกินเนื้อไก่อย่างเอร็ดอร่อย เร่งทำความเร็วแข่งกับเวลา ให้มีปริมาณไก่เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่มีใครยอมใคร ถือเป็นการแข่งขันที่ดุเดือดของสายกินก็ว่าได้ ขณะที่ฝั่งกองเชียร์ ก็ลุ้นกันยกใหญ่ ส่งเสียงเชียร์กันสนุกสนาน
โดยผลการแข่งขันประเภทชาย ได้แก่ นายภูดิส น้ำหนักไก่เบตงคงเหลือ 523 กรัม รับรางวัลชนะเลิศ เงินรางวัลจำนวน 3,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัลจำนวน 2,000 บาท ได้แก่ นายประสิทธิ์ น้ำหนักไก่เบตงคงเหลือ 585 กรัม และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัลจำนวน 1,500 บาท ได้แก่ นายชยพล น้ำหนักไก่เบตงคงเหลือ 595 กรัม
ส่วนในประเภทหญิง รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัลจำนวน 3,000 บาท ได้แก่ คุณมานิลี น้ำหนักไก่เบตงคงเหลือ 724 กรัม, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัลจำนวน 2,000 บาท ได้แก่ คุณ MYS LEE HAN XUAN น้ำหนักไก่เบตงคงเหลือ 810 กรัม, และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัลจำนวน 1,500 บาท ได้แก่ คุณนิศาชล น้ำหนักไก่เบตงคงเหลือ 926 กรัม
ด้าน นายสกุล เล็งลัคน์กุล นายกเทศมนตรีเมืองเบตง กล่าวว่า เทศกาลงานไก่เบตงและกิจกรรมถนนคนเดิน Walking Street ภายใต้คอมเซ็ปต์ “ชิม ช้อป แชะ” ในระหว่างวันที่ 16-25 กันยายนนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประชาชนในพื้นที่และให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในอำเภอเบตงมากขึ้น โดยการนำเอาอัตลักษณ์ของไก่เบตง ซึ่งเป็น SOFT POWER ในพื้นที่มาเป็นสื่อในการนำเสนอการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมการเลี้ยงไก่เบตง ตลอดจนเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับไก่เบตงให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
————————–