Wednesday, 5 February 2025

รู้เท่าทัน และไม่ตกเป็นเครื่องมือของ Fake News

       “Fake News” หรือ “ข่าวปลอม” ตอนนี้กลับมาระบาดหนักขึ้นจนกลายเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายในโลกโซเชียลกันอยู่เป็นระยะ ในทุกวันนี้โลกออนไลน์เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารมากมายซึ่งส่งต่อกันง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว แต่สามารถสร้างผลกระทบไปได้กว้างอย่างรวดเร็ว ดังนั้นก่อนจะส่งต่อข่าวสารอะไรไป เราควรคิดพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าข่าวนั้น เป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอมและการที่เราส่งต่อไปจะก่อให้เกิดผลดีหรือผลร้ายต่อสังคมในสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้นเราจึงต้องรู้ทันและหลีกเลี่ยงไม่กลายเป็นเครื่องมือในการส่งต่อข่าวปลอม

          5 วิธี ที่สังเกตข่าวที่เราพบเห็นบนสื่อสังคมออนไลน์ว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม เพื่อให้เราได้รู้เท่าทัน หลีกเลี่ยง และไม่เป็นเครื่องมือในการส่งต่อข่าวปลอม มีวิธีสังเกตดังนี้

  1. สังเกตแหล่งที่มาของข่าว ข่าวปลอมมักมีที่มาไม่น่าเชื่อถือ หรือไม่ระบุที่มา
  2. สังเกตการณ์เรียบเรียงเนื้อข่าว ข่าวปลอมมักมีเนื้อหาสับสน สะกดคำผิด เนื้อข่าวหรือคำที่ใช้ใส่อารมณ์ เน้นเรียกร้องความสนใจ ให้คนเข้ามาอ่าน ดังตัวอย่าง
  3. สังเกต URL ของข่าว ข่าวปลอมอาจตั้ง URL ให้คล้ายเว็บสำนักข่าวจริง จงใจเลียนแบบให้คนเข้าใจผิด เช่น MATICHOR.COM   เพจปลอม   MATICHON.COM     เพจจริง
  4. สังเกตภาพข่าว ข่าวปลอมมักใช้ภาพข่าวเก่า หรือภาพที่อื่น กรณีตัวอย่างเช่น

                กรณี ใช้ภาพเก่าที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2562 กรณีแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์(ยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นเลขาคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต. ได้ร่วมคณะพูดคุยเดินทางไปพบปะกับแกนนำกลุ่มขบวนการต่างๆซึ่งพำนักในต่างประเทศ แต่ภาพถูกนำมาเผยแพร่ในปี 2565 ถูกบิดเบือนด้วยภาพและเนื้อหา เพื่อหวังผลทำลายความน่าเชื่อถือการทำงานของ แม่ทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน.ภาค. 4 สน.

              กรณี ใช้ภาพบิดเบือนในงานวันเฉลิมฉลองฮารีรายอไทยมุสลิม เมื่อวันที่ 11 พ.ค.65 ที่ผ่านมา มีเนื้อหาว่าทหารพรานบุกเก็บข้อมูลผู้ร่วมงาน Melayu Raya ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี  ซึ่งมีการบิดเบือนทั้งข้อมูล ภาพ  หน่วยงาน และสถานการณ์ โดยใช้ภาพเก่าจากการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ทหารพรานที่ 47 ในการซ่อมแซมบ้านให้กับผู้ยากไร้ ที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ตามโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นภาพเก่าเมื่อวันที่ 4 พ.ค 2565

5.ค้นหาข้อมูลจากแหล่งอื่น ตรวจสอบว่า มีข่าวแบบเดียวกันหรือไม่ หรือเป็นข่าวเก่า ข่าวปลอม

                นอกจากนี้สามารถยังมีวิธีตรวจสอบข่าวกรองได้ง่าย ๆ คือเข้าไปที่เว็บไซด์ Facebook Twitter หรือ Line ของ ศูนย์ข่าวปลอม ประเทศไทย หรือ Anti-Fake News Center Thailand ซึ่งจะมีการนำข่าวต่าง ๆ ที่ตรวจสอบแล้วมาเผยแพร่ให้ทราบว่าข่าวใดเป็นข่าวจริง ข่าวปลอม หรือข่าวบิดเบือน พร้อมทั้งชี้แจงข้อเท็จจริง เชื่อถือได้ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานนั้น ๆ

           ในสื่อสังคมออนไลน์ทุกคนสามารถผลิต หรือส่งต่อข้อมูลข่าวสาร ได้อย่างไร้ข้อจำกัด ทำให้ มีข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นมากมายรวมกันอยู่ ยากต่อการวิเคราะห์แยกแยะว่าข้อมูลไหนจริงหรือปลอม ซึ่งมีผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์จำนวนมาก และส่งต่อข่าวปลอมออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งไม่ว่าผู้ที่ปล่อยข่าวปลอมหรือผู้ที่ส่งต่อ ล้วนแล้วแต่มีความผิดทางกฎหมายทั้งสิ้น เราจึงควรรู้เท่าทัน หลีกเลี่ยง และไม่ตกเป็นเครื่องมือในการส่งต่อข่าวปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อตนเองและสังคมตามมา ซึ่งข่าวบางข่าวมีผลกระทบต่อความมั่นคง เราจึงจำเป็นต้องมีวิจารณญาณในเสพข่าวและการส่งต่อ เพื่อไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีต่อความมั่นคงของชาติ