ลูกละมุดที่ใครหลายคนเรียกแบบชาวบ้าน ๆ ว่า “ลูกสวา” ส่วนภาษามลายูท้องถิ่น เรียก “ซาวอ” ซึ่งปลูกอยู่ในสวนหลังบ้านของ ชาวสวนบ้านหน้าถ้ำ ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ผลผลิตเริ่มทยอยสุกแล้ว ป้ากัณหา และลุงพนม ก็จะช่วยกันนำบันไดไปพร้อมกับไม้สอยและย่าม ปีนขึ้นสอยเก็บลูกละมุดทีละลูก ๆ
ป้ากัณหา บอกว่า จะทำไปเรื่อย ๆ เก็บไปเรื่อย ๆ มี 10 กว่าต้น ไม่รีบร้อนทำไปฟังเพลงไปด้วยความใจเย็น ป้าอายุมากแล้ว 75 ปี ลุงก็ 78 ปีแล้ว แต่ก็ยังทำไหว เมื่อสอยได้เต็มย่าม ป้ากัณหาก็จะค่อย ๆ นำลูกสวาที่ใส่ไว้ในย่ามปีนลงมาวางด้านล่างก่อน และปีนไปเก็บใหม่ พอได้ประมาณ 20 กว่าโล ก็จะพอไว้เก็บใหม่ในวันต่อไป สวาจะสุกไม่พร้อมกันต้องเลือกสอย เลือกเก็บ
ลุงพนม บอกว่า สวาเริ่มทยอยสุก เก็บขายตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. และจะเก็บขายไปได้ อีก 1 เดือน ปลาย ๆ พ.ย. ก็จะหมดฤดู ปีนี้สวาให้ผลผลิตเยอะ มีมากกว่าปีที่แล้ว 300-400 กิโล แต่ถ้าเกิดน้ำท่วมก็มีโอกาสร่วง ผลผลิต คิดว่าได้ครึ่งหนึ่ง 50% ส่วนหนึ่งนกบ้าง ค้างคาวบ้างจะมาทำลาย กันยากเค้าจะมากลางคืนก็ให้เค้ากินบ้างไม่เป็นไร
ส่วนกระบวนการเก็บก็จะเก็บทีละลูก ช่อหนึ่งมีหลายลูก แก่จัดไม่เท่ากัน พอเก็บเสร็จก็จะนำไปล้างยางก่อน แล้วนำไปล้างกับเครื่อง ใส่น้ำให้ลูกกระทบกันเอง สัก 3 นาที ก็นำขึ้นมาผึ่งลม 2 ชั่วโมงให้แห้ง เสร็จแล้วนำไปบ่ม 1 วัน 2 คืน สมัยก่อนใช้โอ่งบ่มปากแคบ แต่ปัจจุบันใช้เข่ง ซึ่งเป็นวัสดุกว้างรองกระดาษไว้อย่าให้อากาศนอกในออกมา หลังจากนั้น ก่อนขายก็จะทำคุณภาพ คัดอีกที ลูกใหญ่ เสีย คัดเป็นเกรด A ราคา 50-60 บาท มี 6-7 ลูกต่อ กก. เกรด B ราคา กก.ละ 40-50 บาท 12-13 ลูก เกรด C ราคา กก.ละ 30 บาท มี 20 ลูก ขายที่ตลาดเกษตร ตลาดเช้ามีแม่ค้ามารับที่บ้าน ขายได้ รายได้ก็อยู่ได้ ของไม่พอด้วยซ้ำ เมื่อก่อนวันหนึ่งผลผลิตลูกสวาจะออกจาก ต.หน้าถ้ำ 3-4 ตัน ปลูกมาก ช่วงหลังคนโค่นเยอะ ช่วงนี้ราคาก็ดี โอกาสที่จะสูงถึง 50-80 บาท ต่อกิโลก็มี ไม่มีผลไม้อย่างอื่นแล้ว
————————