จากการนำร่องโครงการทุเรียนคุณภาพในจังหวัดยะลา เมื่อปี 2561 กับเกษตรกรจำนวน 18 ราย ทุเรียน 335 ต้น ต่อยอดสู่ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตรตามศาสตร์พระราชา จังหวัดชายแดนภาคใต้” ในพื้นที่ 10 หมู่บ้านของจังหวัดยะลา นราธิวาสและปัตตานีกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ 564 ราย ซึ่งการทำงานในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา สิ่งที่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับจากโครงการฯ คือ ความรู้ในการดูแล บำรุงต้นทุเรียน การใช้ปุ๋ยและยาที่เหมาะสม การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่แม่นยา และการวางแผนการขาย อีกทั้งมีทักษะทั้งด้านเทคนิคการเพิ่มผลผลิต การเชื่อมโยงตลาด การปลูกที่ประณีตขึ้น และการขายแบบคัดเกรดแทนการขายแบบเหมาสวน
ผลทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น คือ ผลผลิตทุเรียนในโครงการฯ เพิ่มขึ้นจาก 800 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 1,150 กิโลกรัมต่อไร่ จำนวนทุเรียนคุณภาพเพิ่มจากเดิมที่มีเพียงร้อยละ 10 เป็นมากกว่าร้อยละ 52 สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจากการขายทุเรียนคุณภาพให้กับปิดทองหลังพระฯ ในช่วง 3 ปีของโครงการฯ รวม 3,730 ตัน เป็นเงินมากกว่า 260 ล้านบาท หากคำนวณเฉพาะกำไรจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 185,850 บาทต่อรายต่อปี
ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทางปิดทองหลังพระฯ จึงได้วางแผนที่จะขยับต่อไปอีกขั้นหนึ่ง จากการพัฒนาระดับครัวเรือนสู่การพัฒนาระดับชุมชนและการเชื่อมโยงสู่ภายนอก ตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า นั่นคือการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนรวมกันเป็นกลุ่มหรือวิสาหกิจชุมชนที่สามารถบริหารจัดการกันเองได้ ทั้งในการพัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการผลิต การช่วยเหลือดูแลกันและกัน การแก้ปัญหาได้เอง การหาแหล่งความรู้ แหล่งทุน และการตลาดที่เกษตรกรสามารถต่อรองหรือกำหนดราคาได้ เพื่อสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืนต่อไป
นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่าการสนับสนุนให้เกษตรกรในโครงการทุเรียนคุณภาพ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีการรวมกลุ่ม ก็เพื่อสร้างความเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร เป็นการพัฒนาต่อยอดจากความรู้ในการพัฒนาผลผลิตให้ได้มาตรฐานจำหน่ายได้ราคาดี สู่การพัฒนาให้เกษตรกรทำความเข้าใจการตลาดสินค้าเกษตร ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทุเรียน และการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้เอง ขณะเดียวกัน ปิดทองฯ ก็จะสร้างรูปแบบSocial Lab (ปฏิบัติการเรียนรู้ทางสังคมเชิงบูรณาการ) เพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่นต่อไป
“…ทิศทางการพัฒนาดังกล่าวการน้อมนำแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า” ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมาประยุกต์สู่การปฏิบัติ คือ เมื่อเกษตรกรสามารถอยู่รอดมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้และผ่านเส้นความยากจนแล้ว เป้าหมายต่อมา คือ ขั้นที่ 2 การร่วมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนด้วยการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพ และเชื่อมโยงสู่ภายนอกได้ตามทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 คือ ความยั่งยืน…”
ขณะที่การพัฒนาสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชนนั้น ปิดทองหลังพระฯ เห็นว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร คือ สามารถแก้ไขปัญหาพัฒนาร่วมกัน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มโอกาสในการทำตลาด และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนนอกจากนี้ ยังจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรในการที่จะได้รับการรับรองตามกฎหมาย ได้รับการส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การมีอำนาจต่อ รองตลาด และสร้างโอกาสในการแสวงหาแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำได้
ผู้อำนวยการสถาบันปิดทองหลังพระฯ กล่าวอีกว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ปิดทองหลังพระฯ ประเมินว่า จาก 21 หน่วยปฏิบัติการ (โหนด) ของปิดทองหลังพระฯ ใน 3 จังหวัด มี 6 โหนดที่มีรายได้ระดับสูง คือ ตั้งแต่ 10 – 19 ล้านบาท ได้แก่
โหนดที่ 4 อำเภอธารโต โหนดที่ 12 บ้านนิคมกือลอง
โหนดที่ 5 อำเภอกรงปินัง
โหนดที่ 6 ตำบลบันนังสตา + บ้านยีราปัน
โหนดที่ 7 ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ
โหนดที่ 8 ตำบลบาเจาะ
ขณะที่มี 13 โหนดมีรายได้ระดับปานกลาง (1-10 ล้านบาท) และมีเพียงโหนดเดียวที่ยังมีรายได้ระดับต่ำ (0-1 ล้านบาท) แผนการพัฒนาไปสู่การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพ จังหวัดชายแดนใต้ จึงจะเริ่มต้นจากโหนดที่มีรายได้มากพอจะเลี้ยงตัวเองได้ก่อนในเบื้องต้น และเมื่อวิสาหกิจชุมชนแต่ละแห่งเข้มแข็งพอก็จะรวมกันเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพ จังหวัดชายแดนใต้ต่อไป เพื่อสร้างประโยชน์และความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายการทำงานของปิดทองหลังพระฯ ในระยะต่อจากนี้ไป เพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้นและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร
——————————