เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา มีการประชุม รมว.กห.อาเซียน (ADMM) ครั้งที่ 15 พิจารณาและรับรองร่างเอกสารแนวความคิดที่นำไปสู่ความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงกลาโหมประเทศสมาชิกอาเซียน และกระทรวงกลาโหมประเทศคู่เจรจา รวมทั้งภาคีภายนอกภูมิภาค จำนวน 9 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญประกอบด้วย
- แนวทางที่ชัดเจนในการปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือ ระหว่าง กห.อาเซียน และ กห.ประเทศคู่เจรจา รวมทั้งภาคีภายนอกภูมิภาค โดยเปิดกว้างให้องค์กรระหว่างประเทศและประเทศผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมกิจกรรม
- การพัฒนากลไกการติดต่อสื่อสารโดยตรงระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารตรงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน
- การจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือด้านความมั่นคงไซเบอร์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและการปฏิบัติการร่วมกันในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ของภูมิภาค
- การจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านข้อมูลข่าวสารและความมั่นคงไซเบอร์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและพัฒนาขีดความสามารถทางไซเบอร์ร่วมกัน
- การติดตามความร่วมมือในกรอบการประชุม รมว.กห.อาเซียน และ รมว.กห.ประเทศคู่เจรจา เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อนวางแผนพัฒนาการของอาเซียน
- แนวทางหารือว่าด้วยมุมมองด้านการป้องกันประเทศเกี่ยวกับมุมมองของอาเซียนต่อ อินโด-แปซิฟิค เพื่อการปฏิสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคอย่างสมดุลยึดหลักการการเคารพ ผลประโยชน์และความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
- โครงการปฏิสัมพันธ์ทางทหารระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเป็นการปรับปรุงให้มีความยืดหยุ่น เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน
- แนวคิดการประชุมเฉพาะกิจในกรอบการประชุมรมว.กห.อาเซียน กับ รมว.กห.ประเทศคู่เจรจา ว่าด้วยภัยคุกคามด้านเคมี ชีวภาพและรังสี เพื่อสร้างความตระหนักรู้แลความร่วมมือในการรับมือกับการก่อการร้าย
- ระเบียบปฏิบัติประจำของศูนย์ประสานงานนานาชาติ กรณีเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อประสานการทำงานร่วมกันของกองกำลังทหารประเทศที่ประสบภัยและประเทศที่ให้การช่วยเหลือ
หลังจากนั้น มีการรับรองร่างปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวัน 1 ฉบับ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมและเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต สันติภาพและความมั่นคงของอาเซียน ภายใต้กลไกการประชุม รมว.กห.อาเซียน เช่น การเสริมความร่วมมือในการรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 การมีส่วนร่วมของสตรีเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคง ความร่วมมือริเริ่มใหม่ปี 64 และการจัดประชุม ADMM-Plus เป็นประจำทุกปี เป็นต้น
ประเทศไทย ยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันในปฏิญญาฉบับดังกล่าว ในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคงของภูมิภาค โดยยึดมั่นในความเป็นแกนกลางอาเซียน รวมทั้งเสริมความร่วมมือทางทหารระหว่างการให้มีความแน่นแฟ้น เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาและนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของทุกประเทศในภูมิภาคให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป
โดยสรุปภาพรวมบรรยากาศการประชุม รมว.กห.อาเซียน เป็นไปด้วยมิตรภาพ และความเป็นกันเอง แม้จะเป็นการประชุมผ่านระบบ VTC ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการและความสัมพันธ์ที่แนบแน่นใกล้ชิดและต่อเนื่องของ รมว.กห.และการทำงานของ กห.ทุกประเทศ เพื่อร่วมกันรักษาสมดุลและสร้างสันติสุขร่วมกันในภูมิภาค ภายใต้ผลประโยชน์และความไว้เนื้อเชื่อใจร่วมกัน
—————————————-
ขอบคุณข้อมูลภาพจาก Wassana Nanuam