Wednesday, 5 February 2025

ปัตตานียังน่าเป็นห่วง! พบติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 51 ราย สะสม 154 ราย

04 May 2021
642

เมื่อวันที่ (3 พ.ค.) สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ปัตตานีเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจนน่าเป็นห่วง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 51 คน ผู้ป่วยสะสมรวม 154 คน โดยในพื้นที่ อ.เมือง มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดที่ 100 คน โดยก่อนหน้านี้ 7 วัน ปัตตานีมีผู้ป่วยรายวันไม่เคยเกิน 12 คน

จากยอดผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมากดังกล่าว นายราชิต สุดพุ่ม ผวจ.ปัตตานี ได้มีคำสั่งจังหวัดปัตตานี ที่ (พิเศษ) 21/2564 ดังนี้

1.ให้ผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดอื่นๆ ที่จะเดินทางเข้ามาในจังหวัดปัตตานี ให้ปฏิบัติดังนี้ (1) ให้รายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ในเวลาราชการ) หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน (ตลอด 24 ชั่วโมง) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้นำชุมชนในพื้นที่ทันทีที่เดินทางถึงภูมิลำเนา หรือที่พักอาศัยในจังหวัดปัตตานี

(2) ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติคต่อพิจารณาดำเนินการคัดกรองผู้ที่เดินทางมา ตาม ข้อ 1(1) และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการป้องกันโรค โดยให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการหรือออกคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รายละเอียดตามเอกสารแนบท้ายคำสั่งนี้

(3) ให้ผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดตาม ข้อ 1(1) สังเกตอาการผิดปกติ หากมีไข้ และอาการทางเดินหายใจ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้รีบพบแพทย์โดยทันที

(4) ให้ปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโรค D-เว้นระยะห่างระหว่างกัน M-สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า H ล้างมือบ่อยๆ T-ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย T-ตรวจหาเชื้อโควิด-19 A-ติดตั้งและใช้แอปพลิเคชันไทยชนะและหมอชนะโดยเคร่งครัด

กรณีผู้ที่เดินทางตามวรรคหนึ่ง เป็นเจ้าหน้าที่ผู้เดินทางไปปฏิบัติราชการตามข้อกำหนดประกาศหรือคำสั่งต่างๆ ของทางราชการ ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตาม ข้อ 1(1)

2.ห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทเพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่โรค เว้นแต่การใช้เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือการใช้เป็นสถานที่เพื่อช่วยเหลืออุปการะ หรือการใช้สถานที่ตามข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในข้อ 1 ของข้อกำหนด (ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2564

3.ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่ายี่สิบคน (20 คน) เว้นแต่เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด

4.ให้ปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต โดยให้ปิดสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น หรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

5.สนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส ให้ปิดให้บริการ ยกเว้นการใช้สถานที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ส่วนสนามกีฬา หรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้ง หรือที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. และจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม สำหรับการแข่งขันกีฬาที่เคยได้รับอนุญาตจากนายกรัฐมนตรี ให้จัดการแข่งขันได้ เมื่อได้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดแล้วให้จัดการแข่งขันได้ต่อไป

6.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่นได้เท่านั้น โดยงดการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม สุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และเปิดให้บริการได้จนถึงเวลา 21.00 น.

7 ง.ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ แต่ไม่เกินเวลา 22.00 น. สำหรับร้านหรือสถานที่ซึ่งตามปกติเปิดให้บริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ให้เริ่มเปิดดำเนินการได้ในเวลา 04.00 นาฬิกา

8.ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ โดยลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่นได้เท่านั้น แต่ไม่เกิน 21.00 น.

9.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตีมอลส์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ จนถึงเวลา 21.00 น. โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ และงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกมและสวนสนุก ที่งดการให้บริการ

10.คำสั่งใดขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้ใช้คำสั่งนี้แทน

อนึ่ง การดำเนินการตามคำสั่งนี้เป็นไปตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จึงไม่อยู่ในบังคับของกฎหมาย ว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมาย ว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ตามมาตรา 16 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

หากผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้มีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหรือเป็นความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป.