วันทหารผ่านศึก มีความเกี่ยวข้องกับ “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” ซึ่งเป็นอนุสรสถานที่สร้างขึ้น เพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือน ที่เสียชีวิตไปในการรบกรณีพิพาทอินโดจีน หรือ สงครามอินโดจีน ระหว่างไทย เรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งในครั้งนั้นคนไทยเสียชีวิตรวม 59 คน โดยหลังสิ้นสุดกรณีพิพาท โดยมีญี่ปุ่นเป็นตัวกลางในการเจรจา ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามในอนุสัญญาโตเกียว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2484 ผลทำให้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาของหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และดินแดนในกัมพูชาคืนมาจากฝรั่งเศส และได้นำมาแบ่งเป็น 4 จังหวัดคือ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ และจังหวัดลานช้าง
อย่างไรก็ตาม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศมหาอำนาจและฝรั่งเศสที่เป็นฝ่ายชนะสงคราม นำไปสู่ ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งทำที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 หรือที่รู้จักในชื่อ ความตกลงวอชิงตัน มีผลให้อนุสัญญาดังกล่าวถูกยกเลิกไป กลับไปสู่สถานะเดิม โดยไทยต้องคืนดินแดน อินโดจีน ที่ได้มาทั้งหมดให้กับประเทศฝรั่งเศส
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันทหารผ่านศึก โดยยึดถือจากวันที่ พ.ร.บ.จัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อพศ.) ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491 เป็นต้นมา ปัจจุบัน พ.ร.บ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2560 มีฐานะเป็นองค์การของรัฐเพื่อการกุศล เป็นองค์การเพื่อให้การสงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก ทหารนอกประจำการ และผู้ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการรบ รวมทั้งเชิดชูเกียรติแก่ทหารผ่านศึก จึงขอเชิญชวนพี่น้องไทยทุกหมู่เหล่า ได้ร่วมกันรำลึกและเชิดชูวีรกรรมของบรรพชนไทย ที่ได้สละเลือดเนื้อและชีวิต ต่อสู้กับอริราชศัตรูอย่างห้าวหาญ เพื่อรักษาผืนแผ่นดินไทยเอาไว้ให้ลูกหลานไทยได้อยู่กันมาจนถึงวันนี้
——————